วิธีรักษาตาปลา
เริ่มจากการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การลดแรงกดทับและแรงเสียดสี โดยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ (ในรายที่เป็นไม่มากมักจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ)
เปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ไม่หลวม ไม่คับหรือบีบแน่นจนเกินไป ด้านหน้าของรองเท้าเมื่อสวมใส่แล้วจะต้องไม่บีบนิ้วเท้า มีช่วงนิ้วเท้ากว้าง พื้นรองเท้าต้องมีความนิ่มและยืดหยุ่น และส้นรองเท้าต้องไม่สูงจนเกินไป (ถ้าจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ควรไปซื้อในช่วงบ่ายหรือเย็น เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เท้าจะบวมขึ้นในระหว่างที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าถ้าหากเราไปซื้อรองเท้าในตอนเช้า รองเท้าอาจจะไม่พอดีกับเท้าในตอนบ่ายของวันก็ได้)
สวมใส่ถุงเท้าหนา ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดของเท้า แต่ถุงเท้าที่สวมใส่ควรพอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เมื่อใส่แล้วจะต้องไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป และต้องดูให้แน่ใจด้วยว่าถุงเท้าที่สวมใส่นั้นไม่มีตะเข็บที่จะไปขูดกับตาปลาหรือบริเวณที่อาจเกิดตาปลา
หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าควรใช้ฟองน้ำหรือแผ่นรองเท้ารองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านเอาไว้ในขณะสวมใส่รองเท้าด้วย เพื่อช่วยลดแรงกดและแรงเสียดสีที่เท้า หรืออาจใช้วิธีเสริมพื้นรองเท้าเป็นพิเศษเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อช่วยลดแรงกดก็ได้
ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรสวมใส่ถุงมือในขณะทำงานด้วย เพื่อช่วยลดการเสียดสีของผิวหนัง
ผู้ที่เป็นตาปลาบนนิ้วเท้าควรหาซื้อซิลิโคนป้องกันตาปลามาใช้ เพราะแผ่นซิลิโคนที่ถูกผลิตมาเป็นพิเศษจะช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทกระหว่างนิ้วเท้าได้
ผู้ที่เป็นตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้าด้วย
หากตาปลาเกิดจากสาเหตุที่เท้าผิดรูป หรือจากการลงน้ำหนักของเท้าที่ผิดปกติ อาจต้องเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากและมีตาปลาที่เท้า ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมา เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม
การกำจัดตาปลาด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ช่วยลดขนาดของตาปลาลงได้ โดยให้แช่เท้าในน้ำร้อนอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ 10 นาที เพื่อให้ตุ่มตาปลานิ่มลง จากนั้นให้ใช้หินขัดเท้าหรืออุปกรณ์ขัดผิวอย่างอื่น เช่น ตะไบขัดเท้า แปรงขัดเท้า ค่อย ๆ ขัดลงไปที่รอยโรค เมื่อขัดเสร็จแล้วให้เช็ดเท้าให้แห้งแล้วบำรุงด้วยครีมทาเท้าเพื่อให้เท้าเกิดความชุ่มชื่น โดยให้ทำเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหายไป (ไม่แนะนำให้ใช้ธูปจี้หรือตัดตาปลาออกด้วยใบมีด มีดโกน กรรไกร หรือของมีคมอื่น ๆ ด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผลจนเท้าติดเชื้ออย่างรุนแรงขึ้นมาได้)
การใช้สมุนไพรกำจัดตาปลา เป็นวิธีธรรมชาติที่ผู้ป่วยสามารถลองทำเองได้ "แต่อาจจะได้ผลไม่ดีนัก" เช่น
กระเทียม ให้ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้กระเทียมส่วนที่เหลือนำมาสับใช้พอกตรงตาปลา พันทับด้วยผ้าพันแผลหรือปลาสเตอร์ ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วจึงค่อยแกะออก โดยให้ทำซ้ำกันทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
มะนาวหรือเลมอน ให้ใช้สำลีชุบน้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน (หรือหั่นเป็นแว่น ๆ) แล้วนำมาเช็ดถูบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำทุกวัน หรือจะใช้บริเวอร์ยีสต์ (Brewer's Yeast) ซึ่งเป็นอาหารเสริมนำมาผสมกับน้ำมะนาวเล็กน้อยให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ก็จะช่วยให้ตาปลานิ่มลงได้เช่นกัน
มะละกอดิบ ให้นำมะละกอดิบมาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วใช้สำลีชุบน้ำมะละกอดิบใช้แปะลงบนตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำซ้ำทุกวันจนกว่าจะเห็นผล
เปลือกสับปะรด ให้นำเปลือกที่ไม่ใช้แล้วมาหั่นเป็นชิ้นขนาดพอดีกับตาปลา แล้วแปะลงตรงตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นแกะออกล้างให้สะอาด และทาบริเวณตาปลาด้วยน้ำมันมะพร้าว โดยให้ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นประจำจนกว่าจะหาย
ผงขมิ้น ให้นำผงขมิ้นไปผสมกับน้ำผึ้งให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ตาปลาก็จะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป หรือจะใช้ผงขมิ้นผสมกับเจลว่านหางจระเข้ทาลงในปลาสเตอร์แล้วปิดทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้ จากนั้นก็แกะออกแล้วทาด้วยครีมบำรุงตามปกติ โดยให้ทำซ้ำติดต่อกันเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหาย
ชะเอมเทศ ให้นำผงชะเอมเทศมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ดให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกลงบริเวณที่เป็นตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่มและหายไป
น้ำมันสน ก่อนใช้ให้นำน้ำแข็งมาประคบลงบริเวณที่เป็นตาปลาประมาณ 2 นาทีแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้ใช้น้ำมันสนทาลงบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดปลาสเตอร์ทับไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออก หากทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ตาปลาหายเร็วขึ้น
น้ำมันละหุ่ง น้ำมันชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์แรง ในการใช้จึงต้องระมัดระวังให้มาก โดยให้หาเทปพันแผลหรือปลาสเตอร์แบบที่เป็นรูตรงกลางมาปิดไว้รอบ ๆ ให้เหลือแต่บริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้น้ำมันละหุ่งหยอดและกดทับด้วยสำลี แล้วปิดทับด้วยเทปพันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันซึมออกมา จากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า
น้ำส้มสายชูกลั่น ให้นำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำ 3 ส่วน แล้วนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกแล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ จากนั้นให้บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว วิธีนี้ให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำส้มสายชูเข้มข้นจนเกินไป
เบกกิ้งโซดา ให้ใช้ผงเบกกิ้งโซดา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำแล้วแช่ส่วนที่เป็นรอยโรคหรือตาปลาลงไปประมาณ 10-15 นาที จากนั้นขัดบริเวณที่เป็นตาปลาด้วยหินขัดหรือแปรงนุ่ม ๆ หรืออีกวิธีหนึ่งให้ใช้น้ำมะนาวผสมกับผงเบกกิ้งโซดาและน้ำเปล่า ทำให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกและล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นให้ขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ ก็จะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น
ยาแอสไพริน ในยาแอสไพรินจะมีกรดซาลิไซลิกที่ช่วยกัดตาปลาได้ วิธีการใช้ก็คือ ให้นำยาแอสไพริน 5 เม็ดมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมะนาว 12 ช้อนชา และน้ำเปล่าอีก 12 ช้อนชา จากนั้นให้นำมาป้ายตรงตาปลาแล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดทับไว้และพันทับด้วยผ้าขนหนูอุ่น ๆ อีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วแกะออก ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นแล้วใช้หินขัดออกเบา ๆ จะช่วยทำให้ตาปลาหลุดลอกออกมาได้